A Brief History of Toy Story  เบื้องหลังสั้นๆของอนิเมชั่นเปลี่ยนโลก

A Brief History of Toy Story เบื้องหลังสั้นๆของอนิเมชั่นเปลี่ยนโลก

 

 ‘ถ้าของเล่นมีชีวิตล่ะ?’ คำถามสำคัญที่สร้างศาสตร์แห่งการเล่าเรื่องรูปแบบใหม่ขึ้นมา เพื่อเฉลิมฉลองการร่วมงานพิเศษระหว่าง Disney Pixar’s Toy Story และ Carnival เราจึงถือโอกาสนี้พาเพื่อนๆทุกคนย้อนเวลากลับไปหาจุดกำเนิดของเรื่องราวของเหล่าของเล่นที่เปลี่ยนแปลงวงการอนิเมชั่นไปตลอดกาล!  

 

 

ไม่บ่อยครั้งนักที่เทคโนโลยีและศิลปะจะผสมผสานกันอย่างลงตัวจนเกิดเป็นสิ่งใหม่ขึ้นมา นอกจากเป็นความทรงจำที่ดีในใจผู้คนทั่วโลกแล้ว Toy Story ยังเป็นภาพยนตร์ขนาดยาว (Feature Film) เรื่องแรกที่สร้างจากเทคโนโลยี CGI แบบ 3D ทั้งเรื่อง เป็นการวิวัฒนาการครั้งใหญ่ของวงการภาพยนตร์อนิเมชั่นที่เปลี่ยนจากการ ‘วาดมือ’มาเป็นดิจิตอลทั้งหมด 

ทุกวันนี้ไม่ว่าใครก็ต้องเคยได้ยินชื่อ Pixar สตูดิโอผู้อยู่เบื้องหลัง ‘Toy Story’ และพลิกโฉมวงการอนิเมชั่นไปตลอดกาล และสร้างเรื่องราวที่น่าจดจำที่อยู่ในใจของผู้คนทั่วโลก แต่กว่าจะมาถึงจุดที่เป็นอยู่แบบทุกวันนี้ได้ Pixar เคยเป็นแผนกนึงของค่าย Lucasfilm มาก่อน โดยรู้จักกันในชื่อชื่อว่า Graphics Group นำทีมโดย Edwin Catmull 

Edwin จบปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ผู้เชี่ยวชาญในด้าน CGI และการพัฒนาซอฟต์แวร์ และที่สำคัญที่สุดคือความหลงใหลในศาสตร์ของอนิเมชั่น ด้วยแรงบันดาลใจจากการ์ตูนดิสนีย์สมัยเด็กอย่าง Peter Pan และ Pinocchio เขาเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์สำหรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่เก่งกาจจนได้เป็นรองประทานของ Industrial Light & Magic ของ Lucas Film ทำหน้าที่ในการพัฒนา CGI ในหนังอย่าง Star Wars และได้มีการทดลองสร้างโปรแกรมสำหรับ Render CG และหนังสั้นทดลองที่สร้างโดย CGI แต่ก็ยังไม่มีเรื่องราว

จนกระทั่งการมาถึงของ John Lasseter อนิเมเตอร์หนุ่มผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยความฝัน จากดิสนีย์ผู้เข้ามาสรรค์สร้างผลงานชิ้นเอกอย่าง The Adventures of Andre & Wally B. (1984) ซึ่งเป็นอนิเมชั่น CGI แรกๆที่ตัวละคร “ดูมีชีวิตชีวา” โดยวิสัยทัศน์และทักษะของ John เป็นเหมือนกับชิ้นส่วนที่ขาดหายไปที่ทำให้ “อนิเมชั่น CGI” เป็นไปได้มากขึ้น

และด้วยความสำเร็จของหนังอนิเมชั่นสั้นเรื่องนี้ และจังหวะทางธุรกิจทำให้ทางทีม John Lasseter และ Edwin Catmull คู่หูบู๊บุ๋น ได้รับข้อเสนอจาก Steve Jobs เป็นจำนวนเงิน 10 ล้านเหรียญฯ ในการซื้อทีมออกมาจาก Lucasfilm ในปี 1986 และ Pixar ก็ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ

Carnival Fun Fact :  CGI (Computer-Generated Imagery) หรือการสร้างภาพกราฟิกโดยคอมพิวเตอร์ กลายเป็น ‘หนังสั้น’ ครั้งแรกเรื่อง “A Computer Animated Hand” ในปี 1972 สร้างโดย Fred Parke และ Edwin Catmull เป็นหนังสั้นแสดงมือ CGI แบบ 3D โดยโมเดลของมือในเรื่องก็ไม่ใช่ของใครที่ไหน แต่เป็นของ Edwin Catmull แห่ง Pixar ของเรานี่เอง

 


เดิมที Steve Jobs ไม่ได้ซื้อ Pixar เพื่อตั้งใจจะทำเป็นสตูดิโอสร้างหนัง แต่มีความสนใจในทีมพัฒนา Hardware อุปกรณ์คอมพิวเตอร์สำหรับงาน CGI เพื่อนำไปจำหน่ายให้กับบริษัทอื่นๆ โดยชื่อของ Pixar เองก็มาจากคอมพิวเตอร์ที่ทางทีมพัฒนาชื่อ “Picture Maker” โดยเรียกสั้นๆว่า Pixer และ ภายหลังเปลี่ยนเป็น Pixar

Pixar Image Computer (PIC) นั้นมีประสิทธิภาพที่สูงและลํ้าสมัยมาก ทำให้ราคานั้นแรงตามไปด้วย Steve Jobs จึงโฟกัสการขายไปที่หน่วยงานทางการแพทย์ มหาวิทยาลัย และหน่วยงานรัฐ โดยมีการผลิตอนิเมชั่นสั้นเพื่อเป็นการโชว์ประสิทธิภาพเครื่อง เรื่อง Luxo Jr. (1986) กำกับโดย John Lasseter เป็นอนิเมชั่นเล็กเกี่ยวกับเจ้าโคมไฟทั้งสองกำลังกระโดดเล่นลูกบอลกันอยู่

ซึ่งอนิเมชั่น Luxo Jr. นี้เองที่เป็นอนิเมชั่นสั้นเรื่องแรกของ Pixar สร้างชื่อเสียงให้กับบริษัทถึงขั้นได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์สั้นแห่งปี ซึ่งเป็นภาพยนตร์สั้น CGI เรื่องแรกของโลกที่ได้รับการเสนอชื่อในสาขานี้อีกด้วย และแน่นอนว่า Intro เปิดตัวโลโก้ของ Pixar Studio (เจ้าโคมไฟกระโดด) ที่เราคุ้นตากันก็มีที่มาจาก Luxo Jr. นี่เอง

นอกจาก Luxo Jr. แล้ว John Lasseter ยังกำกับการสร้างหนังสั้นเพื่อโชว์เคสเทคโนโลยีอีกหลายเรื่อง เช่น Red’s Dream (1987), Knickknack (1989) และ หมุดหมายสำคัญในปี 1988 กับ “Tin Toy” อนิเมชั่น CGI ความยาว 5 นาที ซึ่งเป็นเรื่องราวของเจ้าหุ่นสังกะสีที่ต้องเผชิญหน้ากับเด็กทารกยักษ์ ด้วยพลอตที่น่าสนใจและวิธีการเล่าเรื่องที่เฉียบขาด ทำให้ Tin Toy ประสบความสำเร็จเกินคาดและได้รับรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยมแห่งปี (รางวัล Oscar แรกของ Pixar)

ความสำเร็จของ Tin Toy ทำให้ Pixar ได้รับความสนใจจาก Disney ที่อยากจะดึงตัว John Lasseter กลับมากำกับหนังอนิเมชั่นขนาดยาวของดิสนีย์เอง (John Lasseter เคยทำงานเป็นอนิเมเตอร์ของ ดิสนีย์มาก่อน) การได้กำกับหนังของ Walt Disney Studio นั้นนับเป็นโอกาสครั้งนึงในชีวิตเลยก็ว่าได้ แต่ John Lasseter กลับบอก Ed Catmull เพื่อนร่วมก่อตั้ง Pixar ว่า “ผมจะกลับไปดิสนีย์เพื่อเป็นผู้กำกับ? หรือเลือกอยู่ที่นี่เพื่อสร้างตำนาน!”

จากนั้นเองในปี 1991 Steve Jobs ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ Pixar ก็เข้ามาช่วยเหลือเรื่องการเจรจากับ Disney จนได้เป็นดีลมูลค่า 26 ล้านดอลล่าห์สหรัฐ มาเป็นทุนร่วมสร้างหนังอนิเมชั่นขนาดยาว 3 เรื่องกับ Pixar Studio และแน่นอนว่าหนึ่งในนั้นคือ Toy Story

 

 ด้วยความสำเร็จและเนื้อเรื่องที่น่าสนใจของ Tin Toy บวกกับเทคโนโลยี CGI ในสมัยนั้น Render ผู้คนออกมาสมจริงได้ยากมากและทำอย่างไรก็ดูจะเหมือนพลาสติกไปเสียหมดเลยทางทีมงานก็เลยตกลงกันว่าจะทำเรื่องราวเกี่ยวกับของเล่นพลาสติกไปเลยจะดีกว่า ไอเดีย Toy Story จึงกำเนิดขึ้น

ทีมงานของ Pixar ในขณะนั้นไม่เคยทำหนังอนิเมชั่นขนาดยาวมาก่อน อีกทั้งยังเป็นครั้งแรกที่นำเทคโนโลยี CGI ที่เคยทำแค่หนังสั้นไม่กี่นาที มาขยายสเกลไปเป็นความยาว 80 นาที จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก

เรื่องราวของ Toy Story ว่าด้วยเรื่องของเล่นที่มีชีวิตในห้องของ Andy เด็กชายอารมณ์ดีที่ มี หุ่นคาวบอยหนุ่ม Woody เป็นเพื่อนคู่ใจ โดยวันนึงมีของเล่นใหม่ที่เข้ามาแย่งตำแหน่ง “ชิ้นโปรด” ของ Andy ไป ซึ่งทางทีมสรุปกันว่าควรจะเป็นหุ่น Action Figure เท่ๆที่ได้รับความนิยมในขณะนั้น และอะไรจะเหมาะไปกว่า Buzz Lightyear หุ่นอวกาศสุดเจ๋งที่ขยับได้หลายส่วน ฮีโร่แห่งอนาคต
ตรงข้ามกับไอคอนแห่ง ‘อดีต’ อย่างคาวบอย

มอบชีวิตให้ตัวละครด้วยเสียงพากย์ของนักแสดงชั้นครูอย่าง Tom Hanks (Woody) และ Tim Allen (Buzz) และตัวละครอื่นๆอีกมากมาย ทำให้ทางทีมรู้ว่า มีวัตถุดิบชั้นเลิศอยู่ในมือ ด้วยคาแรคเตอร์ที่ต่างกันสุดขั้วของสองตัวละครนำที่จะต้องเรียนรู้ความ
ต่าง ผ่านการผจญภัย และอะไรจะดีไปกว่าการให้ตัวละคร Buzz ไม่รู้ตัวด้วยซํ้าว่าตัวเองเป็นของเล่น!

ดราฟท์แรกของ Toy Story นั้นไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ด้วยประสบการณ์ที่ยังไม่มากของทีมงาน กับวิธีการเล่าเรื่องที่ยังจับทางไม่ได้ ด้วยคาแรคเตอร์ของ Woody ตัวละครหลักที่ค่อนข้างก้าวร้าวและไม่ค่อยน่ารักเท่าไหร่นัก มุกตลกที่ดูเสียดสีและไม่ค่อยเป็นมิตรต่อผู้ชมวงกว้าง ทำให้เสียงตอบรับของกลุ่มตัวอย่างและดิสนีย์เองไม่ค่อยดีเท่าไหร่ และเกือบจะต้องหยุดกระบวนการผลิตเลยทีเดียว

แต่เมื่อยังมีความพยายาม ความสำเร็จก็อยู่ไม่ไกล ด้วยการเรียนรู้ลองผิดลองถูก ทางทีมก็รวบรวมความเห็นมาพัฒนาปรับปรุงบท กระบวนการสร้างสรรค์ในสมัยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกที่จำกัด แม้แต่จะส่งไฟล์ยังต้องโหลดออกมาเป็นฮาร์ดไดรฟ์และไถสกู๊ตเตอร์ไปส่งอีกฟากของตึกเพื่อเข้า กระบวนการตัดต่อ และทุ่มเทอย่างหนักเพื่อให้อนิเมชั่น CGI 3D ออกมามีชีวิตชีวามากที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อน และในปี 1995 นั้นเองสิ่งมหัศจรรย์ที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์ก็เกิดขึ้น

“สู่ความเวิ้งว้างอันไกลโพ้น” คือเสียงของเด็กทั่วโลกหลังออกมาจากโรงภาพยนตร์ ‘Toy Story’ กลายเป็นตำนานในช่วงข้ามคืน แต่ความสำเร็จไม่ใช่เวทย์มนต์แต่อย่างใด มันคือความพยายามกว่า 800,000 ชั่วโมง ของอนิเมเตอร์ 27 คนในทีมทั้งหมด 110 ชีวิตที่
รวมกันรังสรรค์ Toy Story ขึ้นมา

ความสำเร็จของ Toy Story เป็นสิ่งที่เล่าได้ไม่รู้จบ ด้วยอิทธิพลที่จุดประกายให้วงการอนิเมชั่นหันมาใช้งานและพัฒนาเทคโนโลยี CGI ในการเล่าเรื่อง ไปสู่การเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ของ Pixar Studio ที่ผลิตอนิเมชั่นระดับตำนานออกมาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็น Finding Nemo (2003), The Incredibles (2004), Ratatouille (2007), WALL-E (2008) และ Up (2009) และแทบทุกเรื่องจะเป็นการก้าวกระโดด ครั้งใหญ่ของวงการอนิเมชั่น และเทคโนโลยีที่ช่วยในการเล่าเรื่อง และได้รับรางวัลอันทรงเกียรติมากมาย รวมถึง Oscar หลากหลายสาขามากถึง 23 รางวัล รวมไปถึงสาขาอนิเมชั่นยอดเยี่ยมแห่งปีด้วย

การพัฒนานั้นเห็นได้ชัดระหว่าง ภาคต่อ Toy Story 2(1999), Toy Story 3 (2010) และ Toy Story 4 (2019). ทุกภาคมีการก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่องทั้งทางเทคโนโลยี และการเล่าเรื่อง จากภาพที่เรียบง่ายของภาคแรกมาสู่โลกที่เสมือนจริงของภาค 4 ที่สำคัญมากกว่านวัตกรรมและรางวัลต่างๆก็คือ รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ มิตรภาพ และความทรงจำ 

เป็นเวลา 28 ปีมาแล้วนับตั้งแต่ Toy Story เข้าโรงฉาย คราวนี้ทาง Carnival ก็มีโอกาสได้ร่วมงานกับ Disney/Pixar's Toy Story เพื่อนำคอลเลคชั่นสุดพิเศษมาวางจำหน่ายกันเร็วๆนี้ด้วย ใครที่กำลังรอคอยกันอยู่ขอบอกเลยว่าห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง!

 

 

   #ToyStoryCollectionbyCarnival #ToyStory#DisneyPixarToyStoryCollection #carnivalbkk

By Carnivalbkk
999 view(s)
1 year ago